

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมงานจากกองประสานและเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดยนายอภินันต์ หนูพรหม ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและเร่งรัดการพัฒนา ได้เดินทางลงพื้นที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมสำรวจโอกาสในการส่งเสริมและต่อยอดศักยภาพของธุรกิจอาหารไทยในต่างประเทศ
ภารกิจในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ขอความร่วมมือจาก ศอ.บต. ในการดำเนินการเชิงรุก สนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับ “ร้านต้มยำกุ้ง” ในประเทศมาเลเซีย และขยายต่อไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญด้านตลาดอาหารฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน






สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เริ่มต้นที่ร้านอาหารไทย “Thai Smile” และ “Bangkok Station” ซึ่งตั้งอยู่ที่ปูลัวปีนัง ประเทศมาเลเซีย ดำเนินกิจการโดยนายบูรเฮนธ์ สาเมาะ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากประเทศไทย ที่สามารถสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยจุดเด่นเรื่องรสชาติอาหารไทยแท้และการออกแบบร้านที่สวยงามมีสไตล์ สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยควบคู่กับมาตรฐานฮาลาลอย่างลงตัว
ในการนี้ นายบูรเฮนธ์ สาเมาะ เจ้าของร้าน “Thai Smile” และ “Bangkok Station” ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเปิดร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียว่า จุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจที่อยากเผยแพร่อัตลักษณ์และเสน่ห์ของอาหารไทยให้ชาวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงประเทศไทย แต่สามารถสัมผัสรสชาติแบบต้นตำรับได้ในพื้นที่ใกล้บ้าน “ผมอยากให้คนมาเลเซียได้รู้จักอาหารไทยในแบบที่แท้จริง ไม่เพี้ยนไปจากรสดั้งเดิม คนที่ไม่เคยไปเมืองไทยก็ยังสามารถเข้าถึงรสชาติและวัฒนธรรมอาหารของเราได้ง่ายขึ้น” นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นถึงบทบาทของธุรกิจร้านอาหารไทยในการผลักดันแรงงานไทยในมาเลเซียให้สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองในสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคการเกษตร “แม้เราจะเปิดร้านในมาเลเซีย แต่วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการปรุงอาหาร เช่น หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ สมุนไพร รวมถึงเนื้อไก่สด กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เรานำเข้ามาจากประเทศไทยทั้งหมด เพราะต้องการสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีรายได้จากการส่งออก และเพื่อให้รสชาติอาหารยังคงความเป็นไทยแท้ไว้อย่างครบถ้วน” และทางร้านยังคงยึดหลักการปรุงอาหารแบบต้นตำรับ เพื่อให้ลูกค้าที่มารับประทานอาหารรู้สึกเสมือนว่ากำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ประเทศไทย เป็นการส่งต่อประสบการณ์ทางวัฒนธรรมผ่านรสชาติอาหาร พร้อมสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยให้คนไทยในต่างแดน และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง






ในด้านมุมมองของลูกค้าชาวมาเลเซีย หนึ่งในผู้ที่มารับประทานอาหารที่ร้าน ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า ตนเองประทับใจรสชาติอาหารไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมนูยอดนิยมอย่าง ต้มยำกุ้ง ปลากะพงนึ่งมะนาว และข้าวผัดต้มยำ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรสชาติกลมกล่อม เข้มข้น และถูกปากอย่างยิ่ง “โดยส่วนตัวชื่นชอบอาหารไทยอยู่แล้ว เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย มักจะหาร้านอาหารอร่อย ๆ เพื่อแวะชิม แต่ตอนนี้รู้สึกดีใจมากที่มีร้านอาหารไทยรสชาติต้นตำรับมาเปิดอยู่ใกล้ที่ทำงานของตนเองในมาเลเซีย ทำให้สามารถแวะมาทานได้แทบทุกวัน และตนเองก็แนะนำเพื่อนร่วมงานให้มาลองด้วยกัน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อร่อยมาก และรู้สึกเหมือนได้ไปเยือนเมืองไทยผ่านรสชาติอาหารเลย”
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวมาเลเซียสะท้อนให้เห็นว่า อาหารไทยยังคงครองใจผู้บริโภคในระดับนานาชาติได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะร้าน “Thai Smile” และ “Bangkok Station” ได้นำเสนอในรูปแบบที่ยังคงความเป็นไทยแท้ ทั้งรสชาติ วัตถุดิบ และบรรยากาศร้าน ส่งผลให้ร้านอาหารไทยในต่างแดนไม่เพียงแต่เป็นสถานที่รับประทานอาหาร แต่ยังเป็นพื้นที่ถ่ายทอดวัฒนธรรม และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศได้อีกด้วย



นอกจากนี้ นายอภินันต์ ยังกล่าวด้วยว่า “การลงพื้นที่ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเยี่ยมผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังเป็นการรับฟังปัญหา เสนอแนะแนวทาง และวางรากฐานความร่วมมือในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจของพี่น้องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปประกอบกิจการในต่างแดน สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่บ้านเกิดอย่างเป็นรูปธรรม”
ทั้งนี้ ศอ.บต. มุ่งมั่นในการนำแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์มาเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอาหารไทยในต่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย และเสริมสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้