

วันนี้ (14 มิถุนายน 2568) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ เลขาธิการ ศอ.บต. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ตำรวจภูธรภาค 9 ฝ่ายปกครองชายแดนใต้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงาน ป.ป.ส. ภาค 9 และผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา พร้อมด้วยประชาชนกว่า 500 คน ร่วมแถลงและประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิบัติการ 120 วัน ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดใน จชต. แบบบูรณาการในทุกมิติ” ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 เพื่อลดปัญหาการค้า การใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด พร้อมใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อลดปัญหาและรวมพลังผู้นำศาสนาและประชาชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเพิ่มมากขึ้น มีพื้นที่ปฏิบัติการภายใน 120 วัน ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา อ.จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย มีชุมชนเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 688 แห่ง หลังสำรวจพบปัญหาการใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด การปฏิบัติการจะมีการเน้นจิตอาสาและผู้นำศาสนา ร่วมกับภาครัฐ เข้าปฏิบัติการทำหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่ ตั้งเป้า ในพื้นที่ 688 หมู่บ้าน มิให้มีการจำหน่ายหรือใช้พืชกระท่อมในพื้นที่






พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายว่า ปฏิบัติการ 120 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมและยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเป้าเห็นผลเป็นรูปธรรม ร่วมกันทุกภาคส่วน มอบแนวทางปฏิบัติ 10 ประการ ประกอบด้วย “1.ให้ทุกหน่วย นำปฏิบัติการ 120 วัน ไปทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของหน่วยตน และสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดนำไปปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงกัน 2.กำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดปฏิบัติการให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้ วัดจากประชาชนเป็นจุดสำคัญ เน้นเชิงคุณภาพมากกว่าตัวเลขเชิงปริมาณ 3.ให้ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม แต่ละจังหวัด เริ่มกำหนด ปิดประกาศห้ามขายห้ามจำหน่าย ให้มีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2568 เป็นต้นไป 4.ให้ ศอ.บต. และ ป.ป.ส. ภาค 9 จัดประชุมคณะกรรมการภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บูรณาการในทุกมิติระยะ 3 ปีอย่างต่อเนื่อง หากเป็นไปได้ จัดประชุมทุกเดือนในช่วง 120 วันของปฏิบัติการนี้ เพื่อรายงานความก้าวหน้าในภารกิจ 5.สำหรับผู้นำศาสนา ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติการนี้ ขอให้ทุกมัสยิด ทุกโรงเรียนปอเนาะ ทุกโรงเรียนตาดีกา ทุกวัด มีส่วนร่วมในปฏิบัติการ ตั้งแต่ให้ความรู้ แจกสื่อ ติดป้าย รณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันและช่วยเหลือฟื้นฟูผู้เสพ การอ่านคุตบะห์ในการละหมาดวันศุกร์ และการใช้ฮูกุมปากัต






และมอบนโยบายอีกว่า 6.x-ray ค้นหา ผู้ค้า ผู้เสพ กลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้านเป้าหมาย และนำมาบำบัด โดยใช้ระบบบำบัดของสาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว 7.แสดงพลังของผู้นำศาสนา ชุมชน และภาครัฐ เชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านพืชกระท่อม ผ่านโซเชียล และให้อำเภอและจังหวัด ติดป้ายรณรงค์ตามเส้นทางสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย 8.หน่วยจิตอาสา ช่วยรณรงค์และค้นหาผู้เสพนำเข้าการบำบัดรักษา ป้องกันให้ชุมชนมีความปลอดภัยจากยาเสพติด โดยมีผู้นำในชุมชนร่วมด้วย 9.ให้ ศอ.บต. และ กอ.รมน ภาค 4 ปปส. ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน สรุปปัญหาอุปสรรคและจัดทำแผนแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม และ 10 สำรวจและค้นหาผู้ติดกระท่อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้พืชกระท่อมที่ทำให้มึนเมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้






ด้านผู้นำศาสนา นายมูฮำมัดซูวรี สาแล นายกสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ 5 จชต. และนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติของผู้นำศาสนา ในปฏิบัติการ 120 วัน ลดการใช้พืชกระท่อมว่า พร้อมนำนโยบายไปปฏิบัติการ โดยจะมีการให้ความรู้ในโรงเรียนปอเนาะ ตาดีกา สถาบันการศึกษาทุกรูปแบบในพื้นที่ นำวาระพืชกระท่อม เป็นหัวข้อก่อนการอ่านคุตบะห์ในวันศุกร์ และเป็นหัวข้อแทรกในการบรรยายธรรมของผู้นำศาสนา ในวันศุกร์ทุกมัสยิดด้วย หวังให้พื้นที่ชายแดนใต้เป็นพื้นที่สะอาด ไร้ซึ่งสิ่งมึนเมา ที่เป็นสิ่งฮารอม และสิ่งต้องห้ามในหลักการศาสนา