

วันนี้ (24 มิถุนายน 2568) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส กลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจ กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรม “ยกระดับผลิตภัณฑ์และพัฒนาทักษะอาชีพการทำกรงนกปรอดหัวโขน สู่การเป็น Soft Power” เพื่อส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชนในพื้นที่
กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ให้ความเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ด้านสัตว์เศรษฐกิจ โดยให้นกกรงหัวจุก หรือ นกปรอดหัวโขน เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ พร้อมมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานราชการอื่น ๆ



โดยกิจกรรมในวันนี้ ได้รับเกียรติจากนายอารี หนูชูสุข นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศอ.บต. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร “ช่างทำกรงนกเพื่อเลี้ยงและแข่งขัน” จำนวน 100 คน จากพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ในการนี้ นายอารี หนูชูสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้ดำเนินการประชุมหารือและระดมสมองร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ และชมรมผู้เลี้ยงนกในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาหารนกคุณภาพ การส่งเสริมสมุนไพรพื้นถิ่นเพื่อดูแลสุขภาพนก การรวมกลุ่มเครือข่ายเพาะพันธุ์ รวมถึงการผลักดันนโยบายเข้าสู่เวทีการเจรจาระหว่างประเทศ
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน โดยใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น 2. สร้างอาชีพและรายได้อย่างมั่นคงแก่ประชาชนในพื้นที่ และ 3. ขับเคลื่อน Soft Power เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับประเทศ



สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณฯ โดยแบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. กิจกรรมอบรมทักษะอาชีพ 5 หลักสูตร รวม 500 คน แบ่งเป็นจังหวัดประกอบด้วย จังหวัดสงขลา: ผู้เพาะพันธุ์นกปรอดหัวโขน จำนวน 100 คน จังหวัดปัตตานี: ผู้ผลิตอาหารนก (อาหารเม็ด) จำนวน 100 คน จังหวัดนราธิวาส: ช่างทำกรงนกเพื่อเลี้ยงและแข่งขัน จำนวน 100 คน จังหวัดสตูล: ช่างตัดเย็บผ้าคลุมกรงนก จำนวน 100 คน และ จังหวัดยะลา: ผู้ผลิตอาหารนก (อาหารสด) จำนวน 100 คน
2. กิจกรรมจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนนกปรอดหัวโขน เป็นสัตว์เศรษฐกิจและ Soft Power โดยมีไฮไลต์สำคัญคือ มหกรรมประชันเสียงนกปรอดหัวโขนนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดยะลา มีนกเข้าร่วมการแข่งขัน 2,400 ตัวจาก 4 ประเภท พร้อมกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจ เช่น การจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น นิทรรศการ และแสดงผลิตภัณฑ์ในวงจรอุตสาหกรรมนกปรอดหัวโขน



ด้าน นายอิบรอฮีม อ้นบุตร ประธานชมรมผู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก จังหวัดสงขลา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงนกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการกรงนกก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย กรงนกในท้องตลาดมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักล้านบาท รองรับกลุ่มลูกค้าหลายระดับ ทั้งในเชิงพาณิชย์และในรูปแบบงานศิลปะ ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้เลี้ยงและความคิดสร้างสรรค์ของช่าง และกรงที่ได้รับความนิยมในขณะนี้มักเป็นกรงเชิงพาณิชย์ทั่วไป ที่มีราคาจับต้องได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่นกของผู้เลี้ยงสามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันได้ ก็จะมีการเปลี่ยนกรงเป็นแบบที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อสะท้อนคุณค่าของนกที่เลี้ยง
ในอนาคต อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การเพาะพันธุ์นกอย่างเสรี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาชีพ รวมถึงการสนับสนุนการผลิตกรงนก ซึ่งเชื่อมโยงกับภาคเกษตร เช่น การปลูกไผ่ที่ใช้เป็นวัสดุทำกรง เพราะอาชีพนี้สามารถส่งเสริมได้ทุกช่วงวัย แม้แต่ผู้ที่เคยต้องโทษ เมื่อพ้นโทษแล้วก็สามารถยึดอาชีพทำกรงนกเป็นช่องทางสร้างรายได้และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณค่า



ด้านนาย ธีระชัย ไชยมงคล เลขาชมรมผู้เลี้ยงนกและเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก จังหวัดนราธิวาส กล่าวด้วยว่า การทำกรงนกสามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ โดยกรงนกที่นำมาแสดงในวันนี้มีหลากหลายรูปแบบและขนาด ทั้งแบบประกอบเองได้ง่าย ไปจนถึงกรงที่ต้องใช้ทักษะสูงในการแกะลวดลาย ซึ่งถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ละเอียดอ่อน เราสามารถใช้โอกาสนี้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่อาจมีความสนใจอย่างอื่นเป็นหลัก หากเราสามารถจูงใจให้พวกเขาเห็นคุณค่าและความงดงามของงานฝีมือ ก็จะช่วยรักษาอาชีพนี้ไว้ได้



อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีอุปสรรคบางประการ โดยเฉพาะในเรื่องของวัตถุดิบ เช่น ไม้ที่ใช้ทำกรง ซึ่งในอดีตหาได้ง่ายและมีราคาถูก แต่ปัจจุบันกลับมีราคาสูงขึ้นตามยุคสมัย ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้จะมีข้อจำกัดเหล่านี้ ตลาดกรงนกของเรายังมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ “ลวดลายเฉพาะตัว” ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์และฝีมือของช่างไทยได้อย่างโดดเด่น ปัจจุบันกรงนกเป็นทั้งของสะสมและของใช้สำหรับการเลี้ยงหรือแข่งขัน และกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักนกทั้งในและต่างประเทศ
หากเราพัฒนาต่อเนื่องและส่งเสริมกลุ่มช่างฝีมือให้เติบโต กรงนกของไทยจะสามารถเข้าสู่ตลาดสากลได้อย่างภาคภูมิ ด้วยเอกลักษณ์และคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ