

(9มิ.ย.68) ที่ผ่านมา ณ จวนเจ้าเมืองระนอง (ค่ายเจ้าเมืองระนอง) ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง จังหวัดระนอง ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระนอง ภาครัฐ ภาคเอกชน จัดแถลงข่าว โครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ไทย จีน มลายู “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro ๒๐๒๕ กิจกรรม : Andaman Retro ๒๐๒๕ @ Ranong โดยมี นางสาวปาริชาติ ชูดำ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระนอง พร้อมด้วย นายโกศล ณ ระนอง ทายาทตระกูล ณ ระนอง รุ่นที่ ๕ ของเจ้าเมืองระนอง , นายพิชัยยุทธ สิงห์สหาย วัฒนธรรมจังหวัดระนอง , นายธนกร สุวุฒิกุล นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการ , ว่าที่ร้อยตรีกฤษฎา ฉัมพลีวัฒน์ ผู้อ่านวยการวิทยาลัยชุมชมระนอง , อาจารย์แก้วตา เต็กเค่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล และ นายสมโชค วงศ์ภิวัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระนองและนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง


การจัดโครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ไทย จีน มลายู “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro ๒๐๒๕ ครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวทางของทางรัฐบาลที่ให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบถวิลหาอดีต (Nostalgic tourism)การจัดงานจะจัดขึ้นในวันที่ ๑๙ – 21 มิถุนายน ๒๕๖๘ ณ พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) เวลา 16.00 – 22.00 น. โดยจะเน้นด้านการท่องเที่ยวเมืองระนองในกลิ่นอายของอดีต ควบคู่กับความงดงามของมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเป็นหลัก มีรถ 2 แถวไม้ นำเที่ยวเส้นทางวัฒนธรรมเมืองเก่าจังหวัดระนอง พร้อมด้วยกิจกรรมในแต่ละจุดตลอดเวลาการจัดงานทั้ง 3 วัน ส่วนภายในบริเวณงานจะมีทั้งแฟชั่นโชว์แต่งกายย้อนยุคสวมชุดเคบาย่าหรือผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเคบาย่านั้นเป็นแฟชั่นร้อยปี ที่ไม่เสื่อมคลายเหมือนมนต์เสน่ห์ของจังหวัดระนอง


จังหวัดระนองมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นเมืองท่าเมืองชายแดนเป็นเมืองท่าทางตอนบนสุดของแหลมมลายูที่มีการติดต่อค้าขายกับเมืองทางตอนใต้ของเมียนมา และชาวจีนกับนายทุนโรงถลุงแร่ดีบุกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ปีนังและสิงคโปร์ ปัจจุบันนี้ระนองจะมีคนจากเมียนมาที่ข้ามฝั่งแม่น้ำและทะลเข้ามาซื้อ-ขายสินค้าอุปโภคบริโภคกันเป็นเรื่องปกติ “สามวัฒนธรรม หนึ่งเมืองเดียวกัน” โดยสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระนอง พยายามผลักดันให้เกิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมทั้งสร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับชุมชนในพื้นที่





สำหรับงาน “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro ๒๐๒๕“เคบายา” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การ UNESCO คือเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของผู้หญิงในภูมิภาคมลายูและชวา โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และมีอิทธิพลมาถึงภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชาวไทยเชื้อสายมลายูและเปอรานากัน (ลูกผสมจีน-มลายู) “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” เป็นการผสมผสานของเครื่องแต่งกายและผ้าทอที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประเพณีของชาวภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนถึงความงาม อ่อนช้อย และความเป็นกุลสตรีในวัฒนธรรมดั้งเดิม ดังนั้นขอเชิญชวนทุกท่านแต่งกาย สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ เพื่อสะท้อนถึงวัฒนธรรมดีงามของอดีตจนถึงปัจจุบัน