วันเสาร์, 17 พฤษภาคม 2568
วันเสาร์, 17 พฤษภาคม 2568

รมว.ยุติธรรม ลงใต้ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อยกระดับความเป็นธรรม พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สุจริตฟื้นตัวโดยไม่ถูกยึดทรัพย์

วันนี้ (16 พฤษภาคม 2568) ที่ห้องบอลรูม 1 โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2568 ณ จังหวัดสงขลา มีเป้าหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงผู้ปฏิบัติงานด้านการบังคับคดี เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาคประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเนื้อหากฎหมายให้เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่การส่งเสริมให้ไม่จ่ายหนี้ แต่เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ที่สุจริตสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และสร้างความเป็นธรรมระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ดี ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นเครื่องมือที่ยุติธรรม เข้าถึงง่าย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ภายในการสัมมนามีกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยาย การอภิปราย และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งจะช่วยให้คณะกรรมาธิการฯ ได้รับข้อมูลที่รอบด้านในการพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย ทั้งนี้ ยังถือเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ที่กำหนดให้การตรากฎหมายต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยร่างพระราชบัญญัติล้มละลายที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น มีการเสนอเข้ามาทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จำนวนทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ, ฉบับที่เสนอโดยนายโกศล ปัทมะ กับคณะ และฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยเนื้อหาของแต่ละฉบับเน้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูกิจการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผลจากการจัดสัมมนาในครั้งนี้ จะถูกรวบรวมและใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการต่อไป เพื่อให้ได้ร่างพระราชบัญญัติที่มีความครอบคลุม เป็นธรรม และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง