วันศุกร์, 25 กรกฎาคม 2568
วันศุกร์, 25 กรกฎาคม 2568

มรภ.สงขลา จัดงานสืบสานศิลป์บายศรีสู่ขวัญ ต้อนรับนักศึกษาใหม่ สร้างขวัญกำลังใจ สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

               องค์การนักศึกษา ภาคปกติ มรภ.สงขลา จัดงานสืบสานศิลป์บายศรีสู่ขวัญ ประจำปีการศึกษา 2568 ผูกข้อมือต้อนรับนักศึกษาใหม่สู่รั้วมหาวิทยาลัย สร้างขวัญกำลังใจ สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ถ่ายทอดสัญลักษณ์แห่งความรักความห่วงใย พร้อมดูแลสนับสนุน อยู่เคียงข้างนักศึกษา

             เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 องค์การนักศึกษา ภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดงานสืบสานศิลป์บายศรีสู่ขวัญ ประจำปีการศึกษา 2568 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา โดยมี ผศ.พิเชษฐ์ จันทวี รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีและกล่าวให้โอวาทแก่นักศึกษาใหม่ ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดย นายธรรมรัตน์ จันทภาโส ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านแหลมทราย) เทศบาลนครสงขลา จ.สงขลา และพิธีผูกข้อมือให้แก่ตัวแทนนักศึกษาใหม่ โดยคณาจารย์ มรภ.สงขลา เพื่อรับขวัญและสร้างขวัญกำลังใจ สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย ทั้งยังเป็นการแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ที่สอบเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมพิธีกว่า 2,500 คน

            ผศ.พิเชษฐ์ จันทวี กล่าวว่า พิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมา เพื่อแสดงถึงการต้อนรับและให้กำลังใจแก่ลูกหลานที่ก้าวสู่บ้านหลังใหม่แห่งนี้ การที่นักศึกษาได้ผ่านการคัดเลือกและก้าวสู่ มรภ.สงขลา ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเดินทางในเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ความเติบโต และการพัฒนาตนเองในทุกมิติ ทั้งด้านวิชาการ คุณธรรม และความเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

            พิธีบายศรีสู่ขวัญในครั้งนี้มิใช่เพียงพิธีกรรม หากแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความห่วงใย ความรัก และกำลังใจจากพวกเราทุกคนที่พร้อมจะดูแล สนับสนุน และอยู่เคียงข้างนักศึกษาตลอดการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ขอให้นักศึกษาทุกคนจงมีสติ มีความมุ่งมุ่นในการศึกษา พัฒนาตนเองให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ ใช้เวลาในมหาวิทยาลัยนี้อย่างมีคุณค่า และนำความรู้ ทักษะ และคุณธรรมที่ได้รับ ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง สังคม และ ประเทศชาติต่อไป

          ทั้งนี้ พิธีบายศรีสู่ขวัญถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล จัดขึ้นเพื่อต้อนรับผู้ที่มาอาศัย หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โดยเชื่อว่าเป็นพิธีที่ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจ เพราะทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งที่เป็นนามธรรมที่เรียกว่า “ขวัญ” ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าตัวไปทุกหนทุกแห่ง นอกจากนั้น พิธีบายศรีสู่ขวัญยังเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติ ไม่ประมาท ทั้งเป็นสิริมงคลแก่การเป็นอยู่ของชีวิตและการเข้ามาศึกษาในรั้ว มรภ.สงขลา

           กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน